โรคเอ็มพอกซ์

โรคเอ็มพอกซ์ (เดิมเรียกว่าโรคฝีดาษลิง) เป็นโรคจากเชื้อไวรัสที่แพร่จากมนุษย์สู่มนุษย์ผ่านการสัมผัสกันอย่างใกล้ชิด ในกรณีของคนส่วนใหญ่ อาการป่วยจะไม่รุนแรงและหายเองได้โดยไม่ต้องเข้ารับการรักษา ผู้ติดเชื้อมักเกิดผื่นขึ้นร่วมกับอาการอื่นๆ อีกจำนวนหนึ่ง

ผู้ป่วยโรคเอ็มพอกซ์ที่เป็นมนุษย์รายแรกพบในสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก (DRC) เมื่อปี ค.ศ. 1970  นับตั้งแต่ทศวรรษ 1980 เป็นต้นมา มีจำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้นอย่างช้า ๆ ในบางประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโกและไนจีเรีย  สภาวะดังกล่าวอาจมีความเกี่ยวข้องกับการยุติการฉีดวัคซีนไข้ทรพิษให้แก่ทุกคนในปี ค.ศ. 1980 

การระบาดของโรคเอ็มพอกซ์ (ชนิดย่อย 2) เริ่มต้นในปี ค.ศ. 2022 ซึ่งส่วนใหญ่แล้วแพร่กระจายผ่านการมีเพศสัมพันธ์  นับตั้งแต่ปี ค.ศ. 2023 เป็นต้นมา มีจำนวนผู้ป่วยโรคเอ็มพอกซ์ (ชนิดย่อย 1) เพิ่มขึ้นอย่างมากในสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก  องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ประกาศให้การระบาดในครั้งนี้เป็นวิกฤตด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศเมื่อวันที่ 14 สิงหาคม ค.ศ. 2024  สาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโกได้รับผลกระทบมากเป็นพิเศษ โดยมีประเทศอื่นๆ ในทวีปแอฟริกาได้รับผลกระทบทวีจำนวนเพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน

ความเสี่ยงที่จะติดเชื้อในนอร์เวย์อยู่ในระดับต่ำ

คุณจะป่วยเป็นโรคเอ็มพอกซ์ได้อย่างไร

การติดเชื้อจากมนุษย์สู่มนุษย์มักเกิดจากการสัมผัสอย่างใกล้ชิดกับผื่นและของเหลวภายในร่างกาย  การมีเพศสัมพันธ์กับผู้ติดเชื้อจะทำให้มีความเสี่ยงเพิ่มสูงขึ้น  นอกจากนี้ คุณยังอาจติดเชื้อผ่านละอองฝอย เช่น ละอองฝอยจากการไอหรือการจาม แต่การจะติดโรคได้นั้น จะต้องมีการสัมผัสใกล้ชิดกันเป็นเวลานาน (นับชั่วโมง)

มีการตรวจพบเชื้อไวรัสในน้ำอสุจิหลังจากที่บุคคลนั้นหายป่วยเป็นเวลานานแล้ว แต่ก็ยังไม่แน่ชัดว่าจะทำให้มีความเสี่ยงในการติดเชื้อเพิ่มมากขึ้นหรือไม่  ดังนั้น เราจึงขอแนะนำให้คุณใช้ถุงยางอนามัยระหว่างมีเพศสัมพันธ์หลังจากที่คุณหายป่วยแล้วเป็นระยะเวลา 12 สัปดาห์

ในประเทศแถปทวีปแอฟริกาซึ่งมีความชุกของโรคอยู่โดยธรรมชาติ เชื้อไวรัสยังอาจแพร่จากสัตว์ฟันแทะสู่มนุษย์ได้ด้วย

หลังจากติดเชื้อเป็นระยะเวลานานเท่าไรกว่าที่จะแสดงอาการ

โดยปกติ หลังจากรับเชื้อจนกระทั่งคุณป่วย (ระยะฟักตัว) จะกินระยะเวลา 6-13 วัน แต่ช่วงเวลาดังกล่าวอาจแตกต่างกันไป โดยอาจสั้นกว่านี้หรือยาวกว่านี้ก็ได้ (สูงสุด 21 วัน) 

คุณสามารถแพร่เชื้อให้ผู้อื่นได้เฉพาะกรณีที่คุณมีอาการของโรคแล้วเท่านั้น  กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือขณะที่คุณยังไม่ป่วย คุณไม่อาจแพร่เชื้อให้ผู้อื่นได้ระหว่างระยะฟักตัว

โรคเอ็มพอกซ์แสดงอาการอย่างไรบ้าง

อาการซึ่งพบบ่อยที่สุดของโรคเอ็มพอกซ์มีดังนี้

  • ผื่นและไข้ (สูงเกิน 38°C)
  • ต่อมน้ำเหลืองบวมและรู้สึกเจ็บปวด
  • เจ็บคอ
  • ปวดศีรษะ
  • เหนื่อยล้า
  • ปวดกล้ามเนื้อ

ผื่นจะกลายเป็นตุ่มน้ำพอง ซึ่งจะตกสะเก็ดแล้วแห้งหลุดไป  โดยอาจปรากฏรอยแผลเป็น 

ตามปกติแล้ว ผื่นจะเริ่มปรากฏบนส่วนของร่างกายที่เกิดการสัมผัสเชื้อ  ในกรณีของผู้ป่วยจำนวนมากจากการระบาดในปี ค.ศ. 2022 เริ่มมีผื่นขึ้นบริเวณอวัยวะเพศและทวารหนัก  ผู้ติดเชื้อหลายรายมีอาการตุ่มน้ำพองแต่เพียงเล็กน้อยเท่านั้น

นอกจากนี้ ยังอาจเริ่มมีผื่นในจุดอื่นของร่างกาย เช่น ใบหน้า ปาก หรือมือ  บางคนยังอาจมีผื่นที่ฝ่ามือและฝ่าเท้าด้วย  ในรายที่มีอาการรุนแรง ผื่นยังอาจแพร่กระจายไปยังส่วนที่เหลือของร่างกาย  โดยรายดังกล่าว ผื่นจะมีลักษณะเหมือนผื่นอีสุกอีใส 

บางรายจะรู้สึกเจ็บปวดในจุดที่ขึ้นผื่นและบริเวณโดยรอบ รวมถึงบริเวณต่อมน้ำเหลืองด้วย

เด็ก สตรีมีครรภ์ และผู้ที่มีระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอมีความเสี่ยงสูงกว่าที่จะมีอาการป่วยรุนแรงจากโรคเอ็มพอกซ์

โดยปกติ โรคจะแสดงอาการอยู่ 2-4 สัปดาห์  คุณสามารถแพร่เชื้อได้ตั้งแต่เริ่มมีอาการไปจนกระทั่งสะเก็ดแผลหลุดออกและมีผิวหนังใหม่ก่อตัวขึ้นด้านล่าง (ประมาณ 3 สัปดาห์)

การทดสอบ การตรวจโรค และการรักษาพยาบาล

หากคุณได้สัมผัสเชื้อ คุณควรให้ความใส่ใจเป็นพิเศษที่จะสังเกตอาการของโรคดังที่กล่าวไปข้างต้น 

หากคุณสงสัยว่าตนเองอาจติดเชื้อเอ็มพอกซ์ คุณควรหลีกเลี่ยงการสัมผัสใกล้ชิดกับผู้อื่นและไปพบแพทย์  อาการของโรคเอ็มพอกซ์อาจคล้ายคลึงกับโรคที่พบได้ทั่วไปอีกหลายโรค  ดังนั้น จึงนับเป็นสิ่งสำคัญที่คุณจะต้องได้รับการตรวจจากแพทย์ซึ่งจะเป็นผู้พิจารณาด้วยว่าคุณควรรับการทดสอบเพื่อตรวจหาเชื้อหรือไม่  อนึ่ง คุณไม่สามารถทดสอบดูว่าคุณติดเชื้อหรือไม่จนกว่าคุณจะป่วย

คนส่วนใหญ่ไม่จำเป็นต้องเข้ารับการรักษาแต่อย่างใด นอกจากการบรรเทาอาการ เช่น การใช้ยาลดไข้หรือยาแก้ปวด

ผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงหรือต้องเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลเป็นกรณีที่พบได้น้อย

การตรวจโรค การทดสอบ และการรักษาพยาบาลไม่มีค่าใช้จ่ายแต่อย่างใด

วัคซีนโรคเอ็มพอกซ์

มีวัคซีนที่ใช้จัดการกับโรคเอ็มพอกซ์  ซึ่งสามารถรับวัคซีนดังกล่าวได้ก่อนหรือหลังการติดเชื้อ  โดยจะบริการวัคซีนให้แก่ผู้มีความเสี่ยงที่จะติดเชื้อเอ็มพอกซ์มากกว่า 

บางครั้งจะให้บริการวัคซีนแก่ผู้ที่ได้สัมผัสเชื้อเอ็มพอกซ์แล้ว  ทั้งนี้ต้องพิจารณาเป็นรายกรณีไป  การฉีดวัคซีนหลังจากที่คุณได้สัมผัสเชื้อไวรัสแล้วไม่ได้รับประกันว่าคุณจะไม่ป่วย แต่อาจช่วยบรรเทาอาการให้เบาลงได้  วัคซีนจะปกป้องคุณได้ดีที่สุดในกรณีที่คุณรับวัคซีนหลังจากติดเชื้อ 2-3 วัน แต่อาจแสดงผลเพียงเล็กน้อยหรือไม่แสดงผลเลยหากคุณรับวัคซีนหลังจากที่โรคแสดงอาการแล้ว

คุณสามารถดูข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับวัคซีนเอ็มพอกซ์ได้ที่เว็บไซต์สถาบันสาธารณสุขแห่งประเทศนอร์เวย์ (Norwegian Institute of Public Health) 

การเดินทาง

ขณะนี้ไม่ขอแนะนำให้เดินทางไปยังประเทศที่มีผู้ติดเชื้อเอ็มพอกซ์

ผู้มีความประสงค์จะเดินทางไปหรือพำนักในภูมิภาคซึ่งเป็นที่รับทราบว่ามีผู้ติดเชื้อเอ็มพอกซ์ควรดำเนินการดังนี้

  • ศึกษาเกี่ยวกับสถานการณ์ทั่วไปในบริเวณจุดหมายปลายทาง และติดตามคำแนะนำที่ออกโดยหน่วยงานท้องถิ่น
  • หลีกเลี่ยงการสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อ
  • หลีกเลี่ยงการมีคู่นอนหลายคน/คู่นอนแบบครั้งคราว
  • หลีกเลี่ยงการสัมผัสใกล้ชิดกับสัตว์ ทั้งที่มีชีวิตอยู่และที่เสียชีวิตแล้ว
  • หลีกเลี่ยงการรับประทานเนื้อสัตว์ที่ไม่ได้ปรุงสุกและเนื้อที่ได้จากสัตว์ป่า (เนื้อสัตว์ป่า)

การดูแลสุขอนามัยของมือเป็นอย่างดีนับเป็นมาตรการควบคุมการติดเชื้อที่สำคัญเสมอ

คุณสามารถดูข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับโรคเอ็มพอกซ์ได้ที่เว็บไซต์สถาบันสาธารณสุขแห่งประเทศนอร์เวย์ (Norwegian Institute of Public Health)

Content provided by Folkehelseinstituttet, Helsedirektoratet

Last updated วันพฤหัสบดีที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2567